เส้นทางนักเขียนของ "คมน์ นพรัตน์" Fashion Columnist (Exclusive Interview !!!)



หากใครที่เคยอ่านคอลัมน์ Street Fashion ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ หรืออ่าน Fashion News ในนิตยสาร GRAZIA จะเห็นชื่อของ "คมน์ นพรัตน์" เสมอ ผู้ชายที่ไม่เคยหยุดแต่งตัว ทำผมมาแล้วทุกทรง จดจำชื่อและข้อมูลของนางแบบระดับโลกได้ทุกยุค อีกทั้งยังมีอาชีพเป็นนักข่าวที่มากประสบการณ์ วันนี้ Martinphu.com ต้องรีบคว้าตัวคุณคมน์ มาสัมภาษณ์ถึงเบื้องหลังการทำงาน กับบทบาทอาชีพ Fashion Columnist หนึ่งในอาชีพในฝันของหลายๆคน

Martinphu : คุณคมน์เริ่มสนใจแฟชั่นอย่างจริงจังตั้งแต่เมื่อไหร่?
คุณคมน์ : ผมสนใจแฟชั่นตั้งแต่เด็กๆ อ่านนิตยสาร Vogue ต่างประเทศสมัยที่ยังหายาก เคยเห็นภาพโฆษณาของนางแบบในหน้านิตยสาร แล้วทำให้รู้สึกชื่นชอบนางแบบ ที่ถือเป็นไอคอนในการนำเสนอเสื้อผ้าและแฟชั่นได้เป็นอย่างดี จนมาทำงานในสายนักข่าว ได้รับโอกาสจาก "คุณเกี้ยง นันทขว้าง" นักเขียนชื่อดัง ที่แนะนำให้เขียนคอลัมน์ Street Fashion ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ 


Martinphu : การเป็น Fashion Columnist ต้องทำอะไรบ้าง มีเทคนิคการเขียนอย่างไร ?
คุณคมน์ : ก่อนอื่นก็ต้องติดตามข่าวสารแฟชั่นอย่างจริงจัง ไม่ใช่แค่เพียงผิวเผินแต่ต้องใช้ชีวิตอยู่กับแฟชั่นจนเหมือนเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต ถ้าเขียนในหนังสือพิมพ์ ก็ต้องหาเรื่องที่จะเป็นแรงบันดาลใจให้กับคนอ่าน อาจจะดึงเรื่องราวของนางแบบหรือเรื่องแฟชั่นที่น่าสนใจมาเขียน โดยมีเทคนิคของการเขียนตามแบบฉบับของหัวหนังสือพิมพ์ คอลัมน์ Street Fashion มีความอิสระในการนำเสนอ เราอยากจะดึงเรื่องอะไรมากเขียนก็ได้ในมุมต่างๆของแฟชั่น หากเป็นการเขียน Fashion News ในนิตยสาร จะมีความยากแตกต่างกัน ผมเขียนข่าวแฟชั่นของ 4 เมืองแฟชั่นโลก มิลาน , ปารีส , ลอนดอน , นิวยอร์ก หน้าละ 4 ข่าว การจะเลือกข่าวที่มาลงต้องมีความล้ำสมัย เพราะเราต้องเขียนก่อนล่วงหน้าที่นิตยสารจะวางแผง ต้องคาดเดาว่าอะไรกำลังจะมาในอนาคต พอได้เขียนข่าวก็รู้สึกเห็นด้วยกับคำพูดของ "แอนนา วินทัวร์" ที่บอกว่า แฟชั่นคือการมองไปข้างหน้า ผมต้องมองอนาคตที่ยังไม่เกิดขึ้นของแฟชั่น เพื่อดึงมาเขียนข่าว ก็จะมีความยากในการเลือกเรื่องมาลง เพราะเมื่อนิตยสารวางแผง ข่าวจะต้องตรงกับช่วงเวลานั้นๆและมีความทันสมัย

Martinphu : ความยาวของเนื้อหาในการเขียนเป็นอย่างไร  ?
คุณคมน์ : ถ้าเป็นหนังสือพิมพ์ หนึ่งเรื่องจะต้องมีความยาว 2 หน้ากระดาษ A4 ไม่เกินจากนี้ ไม่ว่าเรื่องจะมีข้อมูลเยอะแค่ไหน เราก็ต้องสรุปมาให้ได้ภายในสองหน้ากระดาษ ส่วนข่าวแฟชั่นในนิตยสาร จะเขียนได้หน้าละ 4 ข่าว / 1 หน้ากระดาษ A4 สรุปคือผมจะมีพื้นที่เขียน 4 หน้า


Martinphu : ภาพประกอบต่างๆในคอลัมน์ต้องหามาประกอบเรื่องที่จะลงเองรึป่าว ?
คุณคมน์ : ถ้าเป็นหนังสือพิมพ์ นอกจากเขียนแล้วผมจะเป็นคนหาภาพประกอบมาลงด้วย เพื่อให้เรื่องและภาพไปด้วยกัน จะเลือกมาประมาณ 5 - 7 ภาพ ก่อนที่จะส่งต้นฉบับไปให้หนังสือพิมพ์ หากเป็นนิตยสารจะสบายหน่อย เพราะจะส่งแค่ข่าว ทางทีมงานจะเป็นคนเลือกภาพมาลงเอง


Martinphu : หาแรงบันดาลใจในการเขียนจากที่ใด เวลาคิดเรื่องที่จะเขียนไม่ออกทำยังไง ?
คุณคมน์ : ผมหาแรงบันดาลใจจากสิ่งรอบตัว ผู้คน หนังสือ อินเตอร์เน็ท เวลาที่เขียนไม่ออกจะลุกจากหน้าคอมพิวเตอร์ทันที และไปทำอย่างอื่นเลย ผมมักจะใช้เวลาหลังจากที่ทำงานทุกอย่างเสร็จเรียบร้อยแล้วมานั่งเขียน เพราะเราจะไม่ต้องกังวลและมีความสุขไปกับการเขียน

Martinphu : ความยากของการทำงานในสายนี้เป็นอย่างไร ?
คุณคมน์ : ต้องมีการตรวจเช็คข้อมูลในการเขียนให้ดี เพราะเมื่อตีพิมพ์แล้วเราจะกลับไปแก้ไขไม่ได้ ทุกอย่างต้องมีความถูกต้อง เนื้อหาต้องทันสมัยโดยเฉพาะข่าวแฟชั่น

Martinphu : ถ้ามีคนที่อยากจะมีอาชีพเป็น Fashion Columnist จะมีคำแนะนำอะไรบ้าง ?
คุณคมน์ :  ก็ต้องลองหัดเขียน เขียนไปเรื่อยๆอย่าเพิ่งนึกถึงเรื่องเงิน ต้องมีความสนใจในแฟชั่น ต้องรู้ว่าตัวเองชอบที่จะเขียนจริงๆรึป่าว บางคนอาจจะเหมาะกับการเป็นดีไซน์เนอร์ บางคนอาจจะเหมาะกับการเป็นสไตลิสต์ อย่างดีไซน์เนอร์ชื่อดัง Thakoon ก็เคยเป็น Fashion Columnist มาก่อนจนมาค้นพบว่าตัวเองชอบการดีไซน์และมีความสามารถที่จะเป็นดีไซน์เนอร์ได้ ก็เปลี่ยนสายทำงานจากนักเขียนไปเป็นนักออกแบบที่ประสบความสำเร็จ ในขณะที่ Suzy Menkes ก็ประสบความสำเร็จในเรื่องการเขียนแฟชั่นอย่างเดียวมาทั้งชีวิต ถ้าเราชอบที่จะเขียนจริงๆก็ลงมือทำ ลองเขียนในพื้นที่ที่เราพอจะมี วันนึงก็อาจจะกลายเป็นนักเขียนแฟชั่นได้เช่นกันครับ


คุณคมน์ นพรัตน์ ใช้เวลากว่า 6 ปีในการก้าวขึ้นมาเป็น Fashion Columnist ระหว่างที่กำลังสัมภาษณ์คุณคมน์บอกว่ากำลังจะมีงานเขียนในนิตยสารอีกฉบับเร็วๆนี้ ความเป็นนักข่าวในอาชีพ ทำให้ผู้ชายคนนี้ มองหาอะไรใหม่ๆมาลงในคอลัมน์เสมอ และหลายเรื่องอยู่เหนือกระแส ไม่เหมือนใคร มีสไตล์เฉพาะตัวในการนำเสนอ และยังคงมุ่งมั่นอยู่กับงานเขียนที่จะเป็นประโยชน์กับคนอ่าน การที่มีโอกาสได้สัมภาษณ์คนที่เขียนเรื่องแฟชั่นเหมือนกัน ก็ทำให้มีโอกาสได้แลกเปลี่ยนความรู้ การก้าวขึ้นมาเป็นมืออาชีพต้องใช้ทั้งเวลา ประสบการณ์ ความรับผิดชอบ และความมุ่งมั่น ติดตามผลงานการเขียนของคุณคมน์ได้ที่คอลัมน์ Street Fashion ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจและนิตยสาร GRAZIA หลายบทความทรงคุณค่าและอยู่เหนือกระแสไม่ใช่เพียงผ่านมาแล้วผ่านไป...

30/8/2013